วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นิดหน่อย

ข้อคิดในการดำรงชีวิต
"ไม่ได้พูดให้กระทบใคร"

อยากมีความสุข... จงทำตัวเหมือนน้ำ...!!!

 บางครั้งการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ต้องรู้จักปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ผู้คน วัฒนธรรม ค่านิยม ฯลฯ หรือสภาพแวดล้อมภายใน ซึ่งได้แก่ ฐานานุรูป หรือสถานะทางสังคมของตัวเองและครอบครัว ความรู้ ฯลฯ 
หลายคนเป็นทุกข์ หาความสุขไม่เจอ เพราะไม่สามารถ 'ปรับตัว' ให้เข้ากับปัจจัยทั้ง 2 ประการได้ 


น้ำเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวเหล่านี้
 

1. รู้จักประมาณตัว 


Water Being : น้ำ ไม่ว่าจะอยู่ในภาชนะรูปแบบไหนๆ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติลักษณะใดๆ ก็สามารถทำตัวกลมกลืนมีรูปร่างไปตามนั้น เช่น อยู่ในแอ่งเล็กๆ อยู่ในสระขนาดกลาง อยู่ในบึงกว้างๆ อยู่ในทะเลสาบขนาดใหญ่ หรือแม้แต่อยู่ในมหาสมุทร น้ำก็อยู่ได้

Being Water : คนเองก็ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับที่อยุ่หรือสิ่งแวดล้อมที่ห่อหุ้มชีวิต อยู่บ้านใหญ่ก็อยู่ได้ อยู่บ้านเล็กก็ปรับตัวให้เหมาะสม เศรษฐกิจดีก็ใช้เยอะ เศรษฐกิจแย่ก็ตัดรายจ่ายได้ ไม่ทุกข์ร้อนใจ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย ตามภาษิต 'นกน้อยทำรังแต่พอตัว'

เบื้องต้น คนต้องรู้ตัวเองเสียก่อนว่าเป็นน้ำในอะไร บางคนเป็นแค่น้ำขังในกะลา ทว่าใช้ชีวิตเหมือน้ำในทะเลสาบ แน่นอนล่ะ ในที่สุดก็ต้องอัตคัตขัดสน หามาได้ก็ใช้หนี้ หมุนวนอยู่อย่างนั้น เพราะดำเนินชีวิตแบบ'เกินกำลัง' ของตัวเอง

เมื่อรู้ตัวแล้ว ก็ต้องรู้สถานการณ์ มีแล้วค่อยใช้ ไม่มีให้เก็บออม คนสมัยนี้ชอบเอา 'เงินอนาคต' มาใช้ เงินอนาคตหมายถึงอะไรน่ะหรือ ก็หมายถึงเงินหรือรายได้ที่คาดว่าจะได้ในวันข้างหน้า แต่ก็เลือกที่จะใช้เสียในวันนี้ เช่น ซื้อของเงินผ่อน กู้ หรือรูดบัตรเครดิตไปก่อน แล้วค่อยจ่ายทีหลัง มีจ่ายก็ดีไป ถึงเวลารายได้ไม่มาอย่างที่คิด ลำบากเอามากๆ 


2. รู้จักถ่อมตน-เคารพคนอื่น

Water Being : น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ น้ำตกเกิดเพราะบนที่สูง บนยอดเขามีน้ำอยู่มาก ไม่ว่าอยู่บนผิวดินหรือใต้ดิน ถึงที่สุดก็ต้องไหลลงสู่ที่ต่ำ

Being Water : เปรียบดั่งคนที่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ติดยึดกับหัวโขนที่สวมอยู่ ว่าฉันเป็นมหาเศรษฐี ฉันเป็นอธิการบดี ฉันเป็นรัฐมนตรี ฉันเป็นกรรมการผู้จัดการ ฉันเป็นนายพล ฯลฯ แต่สามารถปรับตัวได้ตามกาลเทศะ พบผู้อาวุโสก็รู้จักนอบน้อม พบผู้อ่อนอาวุโสหรือด้อยฐานะกว่า ก็เคารพ ให้เกียรติ และมีเมตตา ไม่ดูถูก ไม่รังเกียจ 


3. รู้จักยืดหยุ่น

Water Being : น้ำนั้นอ่อนนุ่ม แต่มีแรงปะทะมหาศาล ยามที่อยู่เฉยๆ น้ำไม่ทำร้ายใคร แต่ยามที่น้ำไหลบ่าก็สามารถทำลายแม้กระทั่งขุนเขาขนาดมหึมา

Being Water : คนจึงต้องรู้จักอดทน อดกลั้น และข้ามผ่านช่วงเวลาที่ไม่น่าพอใจไปให้ได้ ด้วยการรู้จักยืดหยุ่น รู้เขารู้เรา รู้จักถอยเพื่อก้าว เมื่อได้ชัยชนะให้เกียรติคู่ต่อสู้ แข็งมาอ่อนกลับ ชนะจากภายในสู่ภายนอก

จะชนะผู้อื่นได้จึงต้องทำตัวเหมือนน้ำทั้งกายภาพและจิตใจ ใช้ความอ่อนนุ่มสยบความแข็งกร้าว ว่าไปแล้วประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลายร้อยหลายพันปีก็มีตัวอย่างมายืนยันความคิดนี้ ผู้ชายที่มีอำนาจอันแข็งแกร่งล้วนแต่พ่ายแพ้ต่อสตรีที่อ่อนโยนและเลอโฉมมาแล้วทั้งสิ้น

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชนิดของคำไทย


          คำไทยแบ่งออกเป็น 7 ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกันออกไป การเรียนรู้เรื่องลักษณะของคำเพื่อสร้างเป็นกลุ่มคำและประโยคเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนและการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน     คำแต่ละคำมีความหมาย ความหมายของคำจะปรากฏชัดเมื่ออยู่ในประโยค
           การสังเกตตำแหน่งและหน้าของคำในประโยคจะช่วยให้เราทราบชนิดของคำรวมทั้งความหมายด้วย ดังนั้นการศึกษาให้เข้าใจหน้าที่และชนิดของคำในประโยคจึงมีความสำคัญมากเพราะจะช่วยให้เราสามารถใช้คำได้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการในการใช้ภาษาจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทราบว่าคำไนมีที่ใช้อย่างไร เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร นักไวยากรณ์ได้สังเกตความหมายและหน้าที่ของคำในประโยค    แล้วจึงแบ่งคำในภาษาไทยออกเป็นชนิดได้ 7 ชนิด คือ
                 1. คำนาม
                 2. คำสรรพนาม
                 3. คำกริยา
                 4. คำวิเศษณ์
                 5. คำบุรพบท
                 6. คำสันธาน
                 7. คำอุทาน

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555